Friday, January 3, 2014

ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์


ชื่อสามัญ : Pink Tecoma
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tabebuia rosea    (Bertol.) DC.                        
วงศ์ : BIGNONIACEAE
ชื่ออื่นๆ : ชมพูพันธุ์ทิพย์ ชมพูอินเดีย ธรรมบูชา (กรุงเทพ ฯ)ตาเบบูย่า
ลักษณะทั่วไป :
   เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง  สูงราว ๘-๑๒ เมตร ใบเป็นแบบผสม  มีใบย่อย ๕ ใบบนต้นเดียวกัน แผ่ออกคล้ายใบปาล์ม  ผิวไม่เรียบ  ปลายใบแหลม  ยาวประมาณ ๑๒ เซนติเมตร  กิ่งก้านสาขาแผ่ออกเป็นพุ่มค่อนข้างแน่น    ชมพูพันธุ์ทิพย์  ใบแก่และทิ้งใบในฤดูหนาว  ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม หลังจากนั้นจะออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน  ดอกออกเป็นช่อตามกิ่งก้าน  ช่อละ ๕-๘ ดอก  ดอกย่อยลักษณะคล้ายดอกผักบุ้งหรือปากแตร  คือโคนดอกเป็นหลอดยาวปลายดอกบานออกเป็น ๕ กลีบ กลีบดอกบาง ย่นเป็นจีบๆ และร่วงหล่นง่าย  จะเห็นดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ร่วงหล่นกระจายอยู่รอบๆ ต้น  งดงามพอๆ กับที่บานอยู่บนต้น  ดอกย่อยแต่ละดอกกว้างราว ๘ เซนติเมตร  ยาวราว ๑๕ เซนติเมตร สีของกลีบดอกปกติเป็นสีชมพูสดใส  แต่มีความเข้มและจางแตกต่างกันไป  โดยเฉพาะต้นที่เกิดจากเมล็ดจะมีความผันแปรมากมาย  ตั้งแต่สีชมพูจางเกือบขาวไปจนถึงสีเข้มเกือบเป็นสีม่วงแดง เมื่อดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ร่วงหล่นแล้ว  จะติดฝักรูปร่างคล้ายมวนบุหรี่  ยาวราว  ๑๕ เซนติเมตร  เมื่อฝักแก่ราวเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม  จะแตกออกด้านเดียวตามยาว  แล้วเมล็ดที่มีปีกก็ปลิวไปตามลมได้ไกลๆ
ต้นกำเนิดของชมพูพันธุ์ทิพย์  อยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้  ต่อมาได้ถูกนำไปปลูกในเขตร้อนทวีปต่างๆ อย่างแพร่หลายรวมทั้งประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยมีบันทึกเป็นหลักฐานว่า  เป็นผู้นำเข้ามาในประเทศครั้งแรกคือ  กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต  และ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์  บริพัตร  จึงตั้งชื่อตามสีดอก และเป็นเกียรติแก่ผู้นำเข้าว่า  ชมพูพันธุ์ทิพย์  ชื่อเดิมคือ ตาเบบูย่า  มีชื่ออื่นๆ คือ  แตรชมพู  ธรรมบูชา  ชื่อในภาษาอังกฤษคือ  Pink  Trumpet Tree ตามลักษณ์ของดอกนั่นเอง

การขยายพันธ์ : การเพาะเมล็ดหรือการตอนกิ่ง

ประโยชน์ : 
    ใบต้มแก้เจ็บท้องหรือท้องเสียตำให้ละเอียดใส่แผล ลำต้น ใช้ทำฟืน และเยื่อใช้ทำกระดาษได้
แหล่งอ้างอิง : http://www.the-than.com/FLower/Fl-1/58/58.html

No comments:

Post a Comment